รู้จัก ECO Sticker แสดงข้อมูลสำหรับรถยนต์ใหม่ และ โครงสร้างภาษี CO2

ทำการเปิดตัวไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 สำหรับ ECO Sticker หรือ ฉลากรถยนต์ โดย กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง โดยจะมีการบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2558 เป็นต้นไป ควบคู่กับ โครงสร้างภาษี CO2 นั่นหมายความว่า รถทุกคันที่จำหน่ายในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นรถนำเข้า หรือผลิตในประเทศ จะต้องติด ECO Sticker ไว้บนกระจกหน้าต่างทุกคัน ซึ่ง ECO Sticker นี้ จะเป็นฉลากที่แสดงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ ที่มีความเป็นกลาง และจะใช้มาตรฐานเดียวกันกับรถทุกคันที่จำหน่ายในไทย

การที่รถยนต์ในประเทศไทย มีการบังคับให้ใช้ฉลากรถยนต์ หรือ ECO Sticker นั่น ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างมาก เพราะผู้บริโภคจะได้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ ที่ทดสอบโดยองค์กรภาครัฐที่มีความเป็นกลาง ไม่ใช่ข้อมูลจากผู้ผลิต ที่อาจใช้วิธีทดสอบที่แตกต่างกันไป จึงไม่สามารถหาตัวเลขที่เป็นกลางได้ รวมทั้งอาจมีการบิดเบือนตัวเลขเกิดขึ้นได้ด้วย ซึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับโลก (ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่) มีการบังคับใช้ ฉลากติดรถยนต์ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

การอ่าน ECO Sticker นั่น สามารถทำได้ง่ายมาก


1. อัตราสิ้นเปลือง ทดสอบโดยใช้มาตรฐาน R101 จากยุโรป ซึ่งเป็นการทดลองในห้องแล็บ เพื่อจำลองสภาวะการขับขี่แบบเดียวกันกับรถทุกคัน โดยใช้หน่วยเป็น ลิตร/100 กม. มีทั้ง สภาวะในเมือง นอกเมือง เฉลี่ย ที่ผ่านมา แม้จะมีการระบุ แต่ก็ไม่มีการบ่งบอกว่า ตัวเลขที่ได้ ถูกทดสอบด้วยมาตรฐานอะไร
2. อัตราการปล่อย CO2 ทดสอบโดยใช้มาตรฐาน R101 เช่นเดียวกัน หน่วยเป็น กรัมต่อกิโลเมตร โดยในปี 2559 เป็นต้นไป จะใช้ค่าไอเสีย CO2 ในการคิดภาษีสรรพสามิตทุกคัน จึงเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญมาก และเป็นตัวเลขที่บริษัทผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายจะระบุ
3. มาตรฐานสิ่งแวดล้อม บ่งบอกมาตรฐานไอเสียของรถยนต์แต่ละคัน
4. มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งบ่งบอกว่า รถคันนี้ มีอุปกรณ์ความปลอดภัยก่อนการชนอะไรบ้าง และบอกมาตรฐานในการปกป้องผู้โดยสารเมื่อเกิดการชน โดยใช้มาตรฐาน UN R94 และ UN R95
5. ข้อมูลพื้นฐานของรถยนต์ ซึ่งมีระบุโดยบริษัทผู้ผลิตอยู่แล้ว
6. อุปกรณ์ที่ติดตั้งจากโรงงาน ซึ่งมีระบุโดยบริษัทผู้ผลิตอยู่แล้ว
7. ชื่อบริษัท ผู้ผลิต หรือ ผู้นำเข้า

หลังจากนี้ ผู้ซื้อรถยนต์ ก็จะสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ได้อย่างง่ายดาย แถมยังสามารถมั่นใจได้อีกว่า ข้อมูลที่ได้รับ มาจากหน่วยงานภาครัฐที่เชื่อถือได้ และมีความเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจริง คงเป็นไปไม่ได้ ที่ผู้บริโภคจะสามารถขับรถ แล้วมีอัตราสิ้นเปลืองตรงกับที่ระบุไว้ใน ECO Sticker เพราะสภาพการใช้งานของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า รถแต่ละคัน เมื่อนำมาทดสอบภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราการปล่อยไอเสียของรถยนต์แต่ละคัน หรือ CO2 ที่วัดเป็นหน่วย กรัมต่อกิโลเมตร ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการคิดภาษีสรรพสามิตของรถยนต์แต่ละคัน จากเดิมที่เคยใช้ ความจุกระบอกสูบในการคิดภาษี ดังนั้น การระบุข้อมูลบน ECO Sticker ก็จะเป็นกลไกที่ทำงานร่วมกับ โครงสร้างภาษี CO2 เพื่อสนับสนุนให้รถยนต์ที่ใช้ในประเทศไทย เป็นรถยนต์ที่ สะอาด ประหยัด และปลอดภัย

http://www.motorexpo.co.th/knowledge/309
Previous
Next Post »