เทียบกันชัดๆ อีกครั้ง ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เรทเดิม กับ เรทใหม่ปี 2559 ก่อนบังคับใช้

ในปี 2559 จะเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในวงการยานยนต์ไทย นั่นก็คือ การบังคับใช้ร่างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ปี 2559 โดยการเปลี่ยนแปลงหลักๆ คือ การเปลี่ยนจากการคิดภาษีรถยนต์ ตามความจุกระบอกสูบ มาเป็นการคิดภาษีรถยนต์ ตามอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยรถที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อย ก็จะเสียภาษีน้อยกว่ารถที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาก
อัตราการปล่อย CO2 จะมีความสัมพันธ์กับ อัตราสิ้นเปลืองและประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ซึ่งร่างภาษีใหม่นี้ จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ รถยนต์ที่ประหยัดน้ำมันเป็นหลัก รวมถึงรถยนต์ที่รองรับพลังงานทางเลือกอย่าง น้ำมัน E85 และ NGV และรถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮบริด โดยไม่เกี่ยงว่า รถคันนั้นมีแรงม้าเท่าไหร่ ต่างจากร่างภาษีเดิม ที่จัดเก็บภาษีโดยคิดจากความจุเครื่องยนต์และกำลังเครื่องยนต์เป็นหลัก แม้จะยังคงมีการจำแนกพิกัดความจุกระบอกสูบเหมือนเดิม แต่จะแยกเฉพาะ รถยนต์นั่งที่เกิน หรือ ไม่เกิน 3,000 ซีซี และรถกระบะและพีพีวี ที่ เกิน หรือ ไม่เกิน 3,250 ซีซี เท่านั้น
ร่างภาษีใหม่จะสนับสนุนให้ผู้ผลิตสร้างรถยนต์ที่สะอาดและประหยัดขึ้น เพื่อให้รถตัวเองอยู่ในพิกัดภาษีที่ต่ำลง ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่า จะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับรถยนต์ในประเทศไทยมากขึ้น
การบังคับใช้อัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ หรือที่เรียกว่า "ภาษี CO2" จะมาพร้อมกับการบังคับใช้ "Eco Sticker" ซึ่งจะเป็นป้ายแสดงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับรถแต่ละคัน ประกอบด้วย อัตราสิ้นเปลือง มาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้งข้อมูลพื้นฐาน และอุปกรณ์มาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นตัวเลขที่ได้จากการทดสอบมาตรฐานจากยุโรป ประกอบด้วย UN R101, UN R94, UN R95 เพื่อให้รถทุกคัน มีข้อมูลต่างๆ ที่ถูกต้องและเป็นกลาง


"อีโคคาร์ เฟส 2" เรทภาษีถูกลง จาก 17% เหลือ 14%

ร่างภาษีสรรพสามิตใหม่ ถือว่าเป็นร่างที่สนับสนุนรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ อีโคคาร์ ทั้ง เฟส 1 และ เฟส 2 อย่างชัดเจน เพราะรัฐบาลเชื่อว่า รถเหล่านี้ เป็นรถที่ประหยัดน้ำมัน ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นรถที่เหมาะสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของคนไทย โดยรถยนต์ที่ผ่านเงื่อนไขของโครงการ อีโคคาร์ เฟส 2 ก็จะเสียภาษีสรรพสามิต เพียง 14% เท่านั้น

 


รถยนต์นั่ง เครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี ทุกรุ่น ภาษีสรรพสามิตขึ้น 3-10%

สำหรับรถยนต์ในพิกัดนี้ ถือเป็นรถยนต์นั่งส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศเลยก็ว่าได้ เพราะมีตั้งแต่ รถยนต์ซับคอมแพกต์ คอมแพกต์ ขนาดกลางบางรุ่น เอสยูวีบางรุ่น รวมทั้งรถยนต์ระดับพรีเมี่ยมหลายๆ รุ่น ที่หันมาใช้เครื่องยนต์ความจุน้อยลง
มีเกณฑ์วัดง่ายๆ คือ ในร่างภาษีใหม่ รถรุ่นใดก็ตามที่ปล่อย CO2 เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร ก็จะเสียภาษีมากกว่ารถที่ปล่อย CO2 ไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร 5% ซึ่งรถในตลาดปัจจุบัน ยังคงมีบางรุ่นในพิกัดนี้ ที่ยังเกินอยู่
ในอัตราภาษีเดิม รถยนต์ซับคอมแพกต์ ที่รองรับน้ำมัน E20 เช่น โตโยต้า วีออส, เชฟโรเลต์ โซนิค, ฟอร์ด ฟิเอสต้า ถูกคิดอยู่ที่ 25% แต่ในอัตราใหม่ รถเหล่านี้จะอยู่ในพิกัด CO2 ไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร และจะต้องเสียภาษีเพิ่มเป็น 30% ส่วนรถบางรุ่นที่รองรับน้ำมัน E85 เช่น ฮอนด้า แจ๊ซ จากเดิม 22% กลายเป็น 25%
สำหรับตลาดรถยนต์คอมแพกต์ ในปัจจุบันรถระดับนี้ส่วนใหญ่รองรับน้ำมัน E85 หมดแล้ว เช่น โตโยต้า อัลทิส, ฮอนด้า ซีวิค, เชฟโรเลต์ ครูซ, มาสด้า 3 ซึ่งรถเหล่านี้ อัตราเดิมถูกคิดที่ 22% ส่วนอัตราใหม่ รถรุ่นที่ปล่อย CO2 ไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร จะถูกคิดที่ 25% แต่ยังมีบางรุ่นที่ปล่อย CO2 เกิน จนไปอยู่ในพิกัด 151-200 กรัมต่อกิโลเมตร ซึ่งจะต้องเสียภาษี เพิ่มเป็น 30% นั่นหมายความว่า ในพิกัดนี้ รถยนต์รุ่นไหน ปล่อยไอเสียเกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร ก็จะเสียเปรียบคู่แข่งชัดเจน สำหรับรถบางรุ่นที่รองรับน้ำมัน E20 จากเดิมเสียภาษี 25% ก็จะต้องเพิ่มเป็น 30% หรือ 35%
ส่วนรถยนต์นั่งขนาดกลางและเอสยูวีหลายรุ่น ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร เช่น โตโยต้า แคมรี่, ฮอนด้า แอคคอร์ด, ฮอนด้า ซีอาร์วี, นิสสัน เทอานา, มาสด้า ซีเอกซ์-5 และอีกหลายรุ่น มีทั้งรุ่นที่รองรับน้ำมัน E20 และ E85 ซึ่งถูกคิดภาษีอยู่ที่ 22% และ 25% ตามลำดับ รถระดับนี้ ส่วนใหญ่ยังคงปล่อยไอเสียในพิกัด 151-200 กรัมต่อกิโลเมตรอยู่ ดังนั้น คาดว่ารถเหล่านี้ จะเสียภาษีที่เรท 35% และ 30% ขึ้นกับว่า รองรับน้ำมัน E20 หรือ E85 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ในพิกัดเครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี ยังประกอบด้วยรถยนต์ระดับพรีเมี่ยม ตั้งแต่ขนาดซับคอมแพกต์ ตลอดจนถึงขนาดกลางหลายรุ่น ซึ่งก็จะถูกคิดภาษีเพิ่มขึ้น ในอัตราเดียวกับรถบ้านทั่วไป ขึ้นกับการปล่อยไอเสียเพียงอย่างเดียว เช่นกัน

 

รถยนต์ที่ใช้เครื่อง 2,001-2,500 ซีซี ก็โดนคิดภาษีแพงขึ้นเช่นกัน แต่จะไปอยู่ในเรทเดียวกับ รถไม่เกิน 2,000 ซีซีบางคัน

สำหรับพิกัดนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์นั่งขนาดกลาง รถพรีเมี่ยมบางรุ่น และรถเอสยูวี ซึ่งเดิมทีถูกคิดภาษีที่ 30% และ 27% ขึ้บกับว่ารองรับน้ำมัน E20 หรือ E85 ซึ่งเท่าที่สำรวจรถในตลาด พบว่า รถที่ใช้เครื่องยนต์ระดับนี้ จะปล่อยไอเสียอยู่ในเรท 151-200 กรัมต่อกิโลเมตร ซึ่งภาษีก็จะถูกปรับเป็น 35% สำหรับรถที่รองรับน้ำมัน E20 และ 30% สำหรับรถบางรุ่นที่รองรับน้ำมัน E85 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถตลาด ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท

 

รถปิกอัพ คันไหนปล่อยไอเสียเกิน ก็จะโดนขึ้นภาษี

สำหรับภาษีรถปิกอัพ ซึ่งถือว่าเป็นรถที่รัฐบาลสนับสนุน เพราะเสียภาษีน้อยกว่ารถยนต์ประเภทอื่นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ปิกอัพแค็บ หรือ 4 ประตู จะเสียภาษีเพียง 3% และ 12% ตามลำดับ ซึ่งรถที่ปล่อยไอเสียไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษีเรทเดิม แต่ถ้าคันไหนเกิน ก็จะเสียแพงขึ้น 2% สำหรับปิกอัพแค็บ และ 3% สำหรับ 4 ประตู จากข้อมูลในตลาดปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ยังคงปล่อยไอเสียเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตรอยู่ เพราะรถมีน้ำหนักมาก และต้องการเครื่องยนต์ที่มีกำลังสูงในการใช้งาน ซึ่งก็จะโดนขึ้นภาษี นอกจากว่า ผู้ผลิต สามารถพัฒนาเครื่องยนต์บล็อคใหม่ ที่สะอาดขึ้น ตรงนี้ต้องรอดูกันต่อไป

 

รถพีพีวี โดนขึ้นภาษีทุกรุ่นแน่นอน

สำหรับภาษีอัตราใหม่ ดูเหมือนว่า รถพีพีวี จะกลายเป็นรถที่ถูกมองว่า สิ้นเปลืองซะอย่างนั้น เพราะเรทเดิม รถเหล่านี้เสียอยู่ที่ 20% ทั้งหมด แต่พอมาเป็นเรทใหม่ กลับขึ้นเป็น 25% และ 30% สำหรับรถที่ปล่อยไอเสีย ไม่เกิน หรือ เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร ซึ่งจากข้อมูลในตลาด ก็พบว่า ยังเกินอยู่ หมายความว่า รถยนต์พีพีวี ในปี 2559 จะเสียภาษีแพงขึ้นอีก 10% เต็มๆ ทุกรุ่น

 

รถไฮบริด เสียภาษีเท่าเดิม ภายใต้เงื่อนไขใหม่

ในโครงสร้างภาษีเดิม ถือว่าเป็นโครงสร้างที่เอื้ออำนวยแก่รถยนต์ไฮบริดทุกคันที่มีขนาดความจุไม่เกิน 3,000 ซีซี เป็นอย่างมาก เพราะจะเสียภาษีที่ 10% เท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฮบริดคันเล็กๆ หรือรถไฮบริดคันใหญ่เครื่องแรงก็ตาม
แต่สำหรับภาษีใหม่ จะต้องเป็นรถยนต์ไฮบริดที่ปล่อยไอเสียไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตรเท่านั้น จึงจะถูกคิดอัตราเดิมที่ 10% ถ้ามากกว่านั้น ก็จะแพงขึ้นตามลำดับ จากข้อมูลช่วงต้นปี 2015 จะพบว่า มีรถยนต์ไฮบริดหลายรุ่นที่สามารถทำได้ เช่น โตโยต้า พรีอุส, ฮอนดา แอคคอร์ด ไฮบริด, เมอเซเดส-เบนซ์ ตระกูลบลูเทคไฮบริดเกือบทุกรุ่น, โพร์เช่ กาเยนน์ เอส อี-ไฮบริด อย่างไรก็ตาม รถไฮบริดบางรุ่น อาจต้องเสียภาษีเพิ่มอีกถึง 10% กลายเป็น 20% เช่น โตโยต้า แคมรี่ ไฮบริด เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส 300 บลูเทค ไฮบริด และ  บีเอมดับเบิลยู ตระกูลแอคทีฟไฮบริดทั้งหมด 

 

สรุป ราคาที่สูงขึ้น มาพร้อมกับ มาตรฐานที่สูงขึ้น

ข่าวร้ายของร่างภาษีชุดใหม่นี้คือ จะทำให้รถยนต์ส่วนใหญ่ที่ขายอยู่ในตลาด โดยเฉพาะ รถยนต์นั่งเกือบทั้งหมด กระบะ เอสยูวี พีพีวี มีราคาสูงขึ้น เพราะถูกคิดภาษีแพงขึ้นเฉลี่ย 3-10% นั่นหมายความว่า หากมีแผนจะซื้อรถยนต์อยู่แล้ว ควรรีบตัดสินใจซื้อ ภายในสิ้นปี 2558 นี้
ข่าวดีก็คือ ร่างภาษีฉบับใหม่นี้ จะเป็น “มาตรฐานใหม่” สำหรับวงการรถยนต์ไทย ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิต สร้างสรรค์รถยนต์ที่ประหยัดพลังงาน ปล่อยไอเสียน้อยที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อให้รถของตัวเอง อยู่ในพิกัดภาษีที่ไม่สูงจนเกินไป เพราะรัฐบาลเล็งเห็นแล้วว่า รถยนต์ที่มีความจุเครื่องยนต์ต่ำ อาจไม่ใช่รถที่สะอาดและประหยัดเสมอไป แต่ต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย นั่นหมายความว่า หลังจากปี 2559 แม้ว่ารถยนต์อาจมีราคาสูงขึ้น แต่ในระยะยาว คนไทยก็จะได้ใช้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นเช่นกัน


http://www.motorexpo.co.th/knowledge/308


Previous
Next Post »